ถ้าคุณกำลังวางแผนจะท่องเที่ยวเมืองกาญจน์
เราขอเสนอสถานที่ที่น่าประทับใจของเมืองกาญจน์...สำหรับคุณและคนที่คุณรัก
ค้นหาที่เที่ยว, ที่ทานอาหาร, ที่พักและกิจกรรมที่คุณชอบที่นี่
พร้อมคำแนะนำจากเพื่อนที่เคยท่องเที่ยวมาแล้ว.


Search Hotels in Kanchanaburi
Destination:
Check in:
Check out:

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กาญจนบุรี อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อย ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แวดล้อมด้วยทิวเขาเป็นแนวยาวอยู่โดยรอบ ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง กว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร และกำแพงสูง ๗ เมตร มีประตูเข้าออก ๔ ด้าน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ภายในเมืองมีสระน้ำ ๖ สระ

ปราสาทเมืองสิงห์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถานในพุทธศาสนา นิกายมหายาน จากการขุดตกแต่งของกรมศิลปากรที่ค่อยทำค่อยไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ แต่มาเริ่มบุกเบิกกันจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้วเสร็จเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ จึงสวยงามดังที่เห็นอยู่ในวันนี้ ปราสาทเมืองสิงห์นี้กล่าวว่าสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรม คล้ายคลึงกับของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๐ - ๑๗๘๐) กษัตริย์นักสร้างปราสาทแห่งขอม จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งคือพระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และ นางปรัชญาปารมิตาและยังพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์คล้ายกับที่พบในประเทศกัมพูชาจากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ซึ่งจารึกโดย พระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จารึกชื่อเมือง ๒๓ เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างไว้ มีเมืองชื่อ ศรีชัยสิงห์บุรี ซึ่งสันนิษฐานกันว่าคือเมือง ปราสาทเมืองสิงห์ นี่เอง และยังมีชื่อของเมือง ละโวธยปุระ หรือ ละโว้ หรือลพบุรี ที่มีพระปรางค์สามยอด เป็นโบราณวัตถุร่วมสมัย
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมืองสิงห์เป็นเมืองหน้าด่าน รัชกาลที่ ๔ โปรดให้เจ้าเมืองสิงห์เป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ แต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จึงยุบเมืองสิงห์เหลือแค่ตำบล
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏชื่อ เมืองสิงห์ ในทำเนียบศักดินาหัวเมือง คงมีแต่ชื่อเมืองศรีสวัสดิ์ เมืองปากแพรกและเมืองไทรโยค รวม3 เมือง จนถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองสิงห์ปรากฏขึ้นในฐานะเมืองหน้าด่านที่เรียกว่า รามัญ 7 เมือง เมื่อ พ.ศ. 2420 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเมือง สิงห์ ทรงบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยคว่า"ทางประมาณ 7เส้น 8 เส้น ถึงประสาททิศทั้ง 4 ด้าน ทางที่ไปนั้นเป็นต้นไม้ไผ่ครึ้ม ไมสู้รกนักพอเดิน ทางไปได้ แต่รอบนอกปราสาทนั้น ไม้ขึ้นรกชิดเดินไม่ได้เราเข้าช่องเข้าปรางค์ด้านปีนขึ้นไปตามก้องแลงที่หักลงมา ถึงยอมกลางที่ทลายเป็นกองอยู่ แล้วเลียบไปข้างมุมทิศที่ปรางค์อยู่ยอมหนึ่งแต่ทลายเสียแล้วไม่เห็นว่าอย่างไร ปรางค์ทิศ 4 ทิศรูปร่างเหมือนกับปรางค์ใหญ่ ชักกำแพงแก้วติดกันข้างด้านหน้าสามด้าน ด้านหลังทิศต่อปรางค์ทิศกลาง ทั้งสองข้างนั้นมีหลังคายาวเป็นที่เรือนจันทน์ในร่วมกลางสัก 4 ศอก ที่ปรางค์และกำแพงแก้วเรือนจันทน์ทั้งปวงนี้ก่อด้วยแลงแผ่นใหญ่ๆ"

โบรารสถานเมืองสิงห์ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่อีกหลายสิบปี จึงได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง โดยศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา และในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2530 จึงได้มีการเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์อย่างเป็นทางการ
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 16.30 น. ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท เปิดให้เข้าชมฟรี ในวันเด็กแห่งชาติ วันอนุรักษ์มรดกไทย (2 เมษายน) และวันเข้าพรรษา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0 3452 8456-7

กาญจนบุรี ช่องเขาขาด

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นเข้าเป็นพันธมิตรกับเยอรมันได้ทำสงครามกับประเทศต่างๆ ในย่านนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็ได้ถล่มประเทศในย่านนี้ยับไปไม่เป็นท่า นอกจากนี้ยังได้สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนอย่างแสนสาหัส เช่น การบังคับสตรีมาเป็นนางบำเรอให้กับทหารของตน ส่วนผู้ชายก็ถูกบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณ
สถานอนุสรณ์ที่แสดงถึงความโหดเหี้ยมของทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทยคือ สะพานข้ามแม่น้ำแคว ในจังหวัดกาญจนบุรี และมีอีกสถานที่หนึ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ ช่องเขาขาด ซึ่งก็อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีเช่นกัน ช่องเขาขาดเป็นเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า ที่ญี่ปุ่นต้องการสร้างผ่าน และดำเนินการสร้างโดยเชลยศึกชาวออสเตรเลีย และเชลยศึกฝ่ายพันธมิตร เล่ากันว่าช่องทางที่เรียกว่าช่องเขาขาดนี้ ทหารญี่ปุ่นใช้ทหารเชลยเป็นทาสในการก่อสร้างทาง ชีวิตทหารเหล่านั้นล้มตายกันเป็นเบือ เพราะทำงานหนักและโรคภัยไข้เจ็บที่ชุกชุม โดยเฉพาะไข้ป่า ช่องเขาขาดเป็นทางแคบๆ ที่ตัดผ่านเนินเขา มูลดิน ขอบทางรถไฟ และสะพานซึ่งมีอยู่มากมายบริเวณนี้กลายมาเป็นโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานช่องเขาขาด เพื่อรำลึกถึงเหล่าทหารที่ต้องทุกข์ทรมานเหล่านั้น การตัดทางผ่านภูเขา มูลดิน ขอบทางรถไฟ และสะพานมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทหารญี่ปุ่น
ในการลำเลียงทหารและเสบียงไปช่วยทหารญี่ปุ่นในประเทศพม่า ซึ่งขณะนั้นทหารญี่ปุ่นสามารถตั้งมั่นอยู่ในประเทศพม่าแล้ว การก่อสร้างช่องเขาขาดเริ่มด้วยแรงงานของเชลยศึกชาวออสเตรเลียจำนวน 400 คน และญี่ปุ่นได้เพิ่มเชลยศึกขึ้นอีกเพื่อให้การก่อสร้างสำเร็จตามกำหนด ส่วนทหารเชลยศึกที่เพิ่มเข้ามาส่วนมากยังเป็นทหารชาวออสเตรเลีย และทหารจากสหราชอาณาจักร มีบันทึกว่า บรรดาเหล่าเชลยศึกจะใช้ค้อนหนัก 8 ปอนด์ สว่าน ระเบิด เสียม พลั่ว จอบ และตะกร้าหวายอันเล็กๆ เพื่อขนดินออกไปเททิ้งข้างนอกทาง และพวกเขาทำงานอย่างทรมาน บางคนเสียชีวิตอย่างน่าเวทนาในที่ทำงาน ในขณะที่ก่อสร้างเส้นทางสายนี้นั้น เป็นช่วงมรสุมที่รุนแรง และการก่อสร้างช่องเขาขาดยังต้องเผชิญกับความกดดันอย่างสูงจากวิศวกรชาวญี่ปุ่น และผู้คุมชาวเกาหลี ที่ได้บังคับให้พวกเขาทำงานวันละ 12-18 ชั่วโมง นับจากเดือนมิถุนายน 2486 จนเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน ระหว่างการสร้างสะพานรถไฟให้เสร็จทันกำหนดนั้น เหล่าทหารเชลยศึกฝ่ายพันธมิตรขนานนามช่องเขาขาดว่าช่องนรกด้วยเหตุที่ผู้คุมชาวญี่ปุ่นบังคับให้นักโทษทำงานในเวลากลางคืน ใช้แสงสว่างจากคบไฟ ซึ่งให้ความรู้สึกว่าที่นี่คือขุมนรกบนโลกจริงๆ ในช่วงที่เร่งสร้างทางรถไฟให้เสร็จตามกำหนดเรียกว่าช่วง สปิโต หรือตอนเร่งรัด ช่องเขาขาดยังเป็นอนุสรณ์สถานที่ทหารญี่ปุ่นกระทำไว้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยากจะมีผู้ลืมเลือน
ช่องเขาขาดตั้งอยู่ภายในกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา บริเวณกิโลเมตรที่ 64–65 บนทางหลวงหมายเลข 323 (กาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ) ช่องเขาขาดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ เป็นสถานที่จัดแสดงมินิเธียเตอร์ และรวบรวมข้อมูลภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ระหว่างการสร้างทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น พิพิธภัณฑ์นี้จัดไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม ภายในบริเวณมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปยังช่องเขาขาด ซึ่งเป็นสวนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะที่เชลยศึกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัดเจาะภูเขาหินด้วยมือปราศจากเครื่องมืออันทันสมัยให้เป็นช่องสำหรับสร้างทางรถไฟ ปัจจุบันยังมีร่องรอยของทางรถไฟปรากฏอยู่ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3453 1347, 0 1754 2098, 0 1814 7564 โทรสาร 0 3453 1347